โทรสอบถาม. 0-2216-1761

Interview

TOTAL: 1 PICTURES

select a picture

หาเรื่่อง...คุยกับ ครูแมว ผู้บริหาร music tree school โรงเรียนต้นไม้ดนตรี (รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ)

       ทำไม?ถึงต้องเรียนดนตรี

                 เห็นหัวข้ออย่างนี้แล้วหลายคนอาจจะนึกสงสัยอยู่ในใจว่ามันจำเป็นถึงกระนั้นเลยหรือ ถ้าจะให้ผมตอบอย่างตรงไปตรงมาก็บอกได้เลยว่าจำเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเผ่าพันธ์เดียวที่อยู่บนโลกใบนี้(เขาพูดมาอย่างนั้น จะประเสริฐหรือเปล่าก็แล้วแต่วิจารณญานของแต่ละคนนะครับ)ความหมายก็คือ เราหรือมนุษย์ทั้งหลายนี่แหละที่สามารถรับรู้ถึงความแตกต่างของเสียง ซึ่งมีทั้งเสียงสูง เสียงต่ำ ตลอดทั้งระดับเสียงที่แตกต่างกันไป มนุษย์เรารับรู้การได้ยิน การถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงพูด จนกระทั่งพัฒนามาเป็นเสียงร้อง พัฒนาจากการเคาะ ดีด สี ตี เป่า จนสร้างสรรมาเป็นเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ไม่มีใครบอกได้ว่าจุดเริ่มมันมาได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆมันเกิดขึ้นจากความไม่รู้จนถึงความอยากรู้ เหล่านี้เป็นกระบวนการพัฒนาของความเป็นเผ่าพันธ์ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ 
                  "ทำไมถึงต้องเรียนดนตรี" ถ้ามีคนถามกลับมาว่าไม่เรียนดนตรีแล้วจะเป็นอะไรไหม หรือ ถ้าไม่เรียนดนตรีแต่เล่นดนตรีเป็นอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร ในคำถามแรกผมตอบได้อย่างรวดเร็วเลยว่า มันไม่เป็นอะไรหรอกครับ การเข้าใจและการรับรู้ตลอดจนการถูกปลูกฝังมาจากสายเลือด จากครอบครัว จากสิ่งแวดล้อมในแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าคุณลองนึกดีๆว่าตั้งแต่เราเกิดมา เราก็ได้ยินเสียงเพลงกล่อมลูก(สมัยก่อน)ผู้เป็นแม่จะคอยร้องเพลงกล่อมลูกให้ลูกได้หลับ แต่ในสมัยนี้ก็อาจใช้เพลงร่วมสมัยแทน ดังนั้นเราทุกคนจึงถูกซึมซับเสียงเพลงหรือดนตรีมาแต่แรกแล้ว พอเด็กโตมากับการเรียนหนังสือในโรงเรียน ในหลายๆวิชาเรียนก็การใช้บทเพลงหรือเครื่องดนตรีบางชนิดเข้ามาเป็นสื่อการเรียนการสอน กิจกรรมหลายๆอย่างก็ยังนำดนตรีเข้ามาในการให้เด็กได้ร่วมกันเรียนรู้ นี่แค่เป็นตัวอย่างเบื้องต้น ยังไม่นับอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มีศิลปะของดนตรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เพราะฉะนั้นดนตรีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณจะนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์หรือคุณจะเก็บมันไว้ให้สนิมมันกัดกร่อนสุนทรียทางดนตรีที่มีอยู่ในตัวคุณให้มันจางไป
                    ส่วนในคำถามที่สอง ว่าถ้าไม่เรียนดนตรีแต่เล่นดนตรีเป็นอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ง่ายมาก เพราะการที่คุณบอกว่าเล่นเป็นอยู่แล้ว แต่ที่มาของการเล่นเป็นก็ต้องเกิดจากการเรียนรู้ทั้งจากตนเองครู พ่อแม่ พี่น้องหรือเพื่อนไม่มีทางอื่นไปได้ เพียงแต่ว่าคุณจะนำทักษะที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นอยู่แล้วมาเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่าเดิม รู้ถูกกว่าเดิม หรือพัฒนาได้มากกว่าเดิม ย่อมมีแต่ได้กับได้ ยกเว้นคุณจะไม่ทำเท่านั้น
                   " ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก" เป็นส่วนหนึ่งของพระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่6)จากต้นฉบับของ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ เป็นความหมายที่ชัดเจนและเป็นความจริงแท้ มนุษย์เราต่อให้มีไอคิวมากแค่ไหน เรียนเก่งแค่ไหน แต่มิอาจขาดเรื่องของวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือความฉลาดทางอารมณ์(emotional quotient)เพราะดนตรีจะช่วยเรื่องของการเข้าใจและระเบียบวินัยทางอารมณ์ สามารถที่จะแก้ปัญหาเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ยอมรับในสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจได้อย่างมีเหตุและผล ทำให้เป็นคนร่าเริงและมองโลกในแง่ดี อีกทั้งยังสอนให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีอารยะ เหล่านี้เป็นต้น 
                    การเรียนรู้ทางดนตรีเกิดได้จากหลายทาง เริ่มจากการเรียนรู้ด้วยการฟัง การทดลองปฏิบัติโดยไม่รู้ การศึกษากับผู้รู้ในด้านนั้น การเข้าไปเรียนในสถาบันทางดนตรีต่างๆ ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานเบื้องต้นในการเรียนรู้ดนตรี จะไปได้ไกลแค่ไหน เก่งแค่ไหน ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญก็คือเราได้สัมผัสกับศิลปะทางดนตรีที่จะอยู่คู่กับมนุษย์ตลอดไป 
                     ระยะหลังมานี้ผมได้แนะนำผู้ปกครองหลายคนว่าถ้าเด็กคนไหนเริ่มต้นเรียนรู้ดนตรีได้เร็วเท่าไหร่(3ขวบขึ้นไป)ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่เริ่มช้ากว่า เหตุผลที่ว่าก็คือ เด็กควรที่จะเริ่มต้นได้ยินเสียงจากดนตรีหรือเครื่องดนตรีตั้งแต่เยาว์วัย เพราะกระบวนการรับรู้ของเด็กจะถูกซึมซับได้ดีกว่าเด็กที่เรียนตอนโตกว่า เนื่องด้วยจากจำนวนเวลาที่เด็กที่เรียนตั้งแต่เล็กๆจะถูกปลูกรากดนตรีไว้อย่างดีและมั่นคง หรือเรียกได้ว่าพื้นฐานดีนั่นเอง จนเมื่อถึงเวลาที่จะถูกนำมาใช้ย่อมออกดอกผลิใบอย่างมีคุณภาพ พูดง่ายๆว่ามีตุนไว้ก่อนย่อมได้เปรียบ 
                      ความต่อเนื่องของการเรียนก็มีผลต่อการพัฒนา ใครที่สามารถเรียนได้ต่อเนื่องย่อมจะเห็นผลในทางปฏิบัติได้ดีกว่าคนที่เรียนไม่ต่อเนื่อง เรื่องความต่อเนื่องนี่เป็นเรื่องกระบวนการทำซ้ำ ซึ่งเด็กควรจะถูกฝึกให้ทำซ้ำจะส่งผลให้เด็กหรือผู้เรียนได้มีวินัยไปด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความอดทนของผู้ปกครองที่จะช่วยดูแลบุตรหลานของท่านในการควบคุมการฝึกซ้อมจากที่บ้าน(ถ้าทำได้)ถ้าซ้อมมาบ้างการเรียนก็จะลื่นไหลไม่สะดุดหยุดอยู่กับที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องเวลาของทางบ้านด้วย มีผู้ปกครองถามผมมาเยอะมากเรื่องของตารางการฝึกซ้อมของเด็กว่าควรจะใช้เวลาเท่าไหร่ เนื่องจากว่าเวลาไม่เอื้ออำนวย ผมได้ตอบกลับไปว่าถ้าวันละ1ชั่วโมงไม่ได้ก็ครึ่งชั่วโมง ถ้าครึ่งชั่วโมงไม่ได้ก็15นาที ถ้า15นาทีไม่ได้อีกก็10นาที หรือ5นาทีหรือ1นาที ผู้ปกครองก็บอกว่ามันจะน้อยไปไหม ผมก็บอกไปว่าไม่น้อยหรอกครับ แต่จะต้องฝึกด้วยเวลาเท่านี้ทุกวัน ทำให้เป็นประจำ ความมีวินัยจะทำให้เด็กค่อยๆซึมซับและอยากจะเพิ่มเวลาเอง 
                     ไม่ว่าลูกหลานของเราจะนำดนตรีไปใช้ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันหรืออนาคตได้มากน้อยแค่ไหน เป็นอาชีพหรือไม่ ไม่สำคัญ สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นคือเราจะได้เห็นลูกหลานของเราซึ่งเป็นอนาคตของชาติดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความฉลาดทางอารมณ์ และไหวพริบปฏิภาณในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกยุคใหม่ต้องการเป็นอย่างมาก
                    
อัพเดท : 22 ก.ค. 58 อ่าน : 2184 ครั้ง